PEACE TV LIVE

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ผู้มีสิทธิ์ครองราชย์ต่อจาก ร.7 โดย อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


คุณ Soraphong Ladsuan ถามเรื่องผู้มีสิทธิ์ครองราชย์ต่อจาก ร.7 ผมเลยโพสต์แผนผังประกอบรูปที่ผมทำไว้ให้ดู ใครทีอ่านงานของผมมานาน คงเคยเห็นแล้ว เพราะได้โพสต์ที่ ฟ้าเดียวกัน-คนเหมือนกัน หลายครั้ง

ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้

1. เจ้านายทีมีเครื่องหมาย * (ดอกจันทร์) กำกับ 10 คนในแผนผังนี้ คือ 10 คนแรก ที่มีสิทธิ์ครองราชย์ต่อจาก ร.7 ตามที่กระทรวงวัง จัดทำขึ้น เมื่อ ร.7 สละราชย์ โดยมี กรมพระนริศ ผู้สำเร็จราชการตรวจให้ความเห็น ชอบแล้ว โดยเรียงตามลำดับ จากซ้าย มา ขวา และจากบน มา ล่าง (เช่น อันดับที่ 1 พระองค์เจ้าอานันท์, อันดับที่ 2 พระองค์เจ้าภูมิพล, อันดับที่ 3 กรมพระนครสวรรค์, อันดับที่ 4 พระองค์เจ้าจุมพฏ ..... ไปจนถึง อันดับที่ 10 พระองค์ขจรจบ)

2. ปี พ.ศ. ใต้พระนามคือปีเกิดและปีสิ้นพระชนม์ของแต่ละองค์ ส่วนเจ้านายที่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ จะมี "ร." ตามด้วย พ.ศ. ด้วย หมายถึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ.นั้น และแน่นอนสิ้นสุดเป็นกษัตริย์เมื่อสวรรคต (ปีสิ้นพระชนม์) ยกเว้น ร.7 ที่สละราชย์ในปี 2477 แต่สิ้นพระชนม์ปี 2484

3. จะเห็นว่าในแผนผังนี้ ไม่มี * กำกับที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ความจริง เมื่อ ร.7 สละราชย์ นั้น ตามที่ปรีดีเล่า มีคนยกประเด็นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ขึ้นมาเหมือนกันว่า น่าจะเป็น candidate กษัตริย์องค์ใหม่ด้วยพระองค์หนึง แต่ในที่สุด คณะราษฎร ได้เลือก พระองค์เจ้าอานันท์ เหตุผลทางการที่ปรีดียกมาคือ นัยยะของกฎมณเฑียรบาลเรื่องที่แม่เป็นต่างชาติ

แต่เรื่องนี้ ทางผู้สนับสนุน ปรีดี (โดยเฉพาะคุณสุพจน์ ด่านตระกูล) มักยืนยันว่า จริงๆแล้ว พระองค์เจ้าจุลฯ ยังมีสิทธิ์อยู่ เพราะกฎมณเฑียรบาล ถูกออกมาหลังพระองค์เจ้าจุลฯ ประสูติ มิหนำซ้ำ หม่อมแคทเธอรีน ยังได้รับการรับรองเป็นสะใภ้หลวง ยิ่งกว่านั้น ในทางกลับกัน "สาย" ของพระนางเจ้่าสว่างวัฒนะ และลูกชายคือกรมหลวงสงขลา (พระราชบิดาในหลวงปัจจุบัน) เหมือนกับได้ "ถูกข้าม" มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ ร.5 แทนที่จะตั้ง กรมหลวงสงขลา เป็นมงกุฏราชกุมาร หลังจากพี่ชาย (เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ) สิ้นพระชนม์ กลับหันมาตั้ง "สาย" พระนางเจ้าเสาวภา แทน (คือ ร.6 และต่อมาก็ ร.7) ดังนั้น การที่ พระองค์เจ้าอานันท์ได้รับเลือกเป็น ร.8 แทนที่จะเป็นพระองค์เจ้าจุลฯ ต้องถือว่าเป็นเพราะการสนับสนุนของปรีดี

ผมไม่เห็นด้วยกับการอธิบายของผู้สนับสนุนปรีดีเช่นนี้ และได้อธิบายโต้แย้งโดยละเอียดในบทความหนึ่งทีตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สรุปสั้นๆคือ จริงๆแล้ว พระองค์เจ้าจุลฯ หมดสิทธิ์เป็นกษัตริย์แล้ว ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) พระบิดาของพระองค์เจ้าจุลฯ คือ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ได้ทำความตกลงกับ ร.6 พี่ชายไว้ตั้งแต่แรกว่าจะไม่ตั้งลูกชายเป็นมกุฏราชกุมาร ถ้าตัวเองขึ้นครองราชย์ (แลกกับการที่ ร.6 ยอมตั้ง เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เป็นรัชทายาทของ ร.6); (2) หลังเจ้าฟ้าจักรพงษ์ สิ้นพระชนม์กระทันหัน (ที่สิงคโปร์) ร.6 ได้ตั้ง อัษฏางค์ เป็นรัชทายาทต่อ "ข้าม" พระองค์เจ้าจุลฯ ไปแล้ว มิหน่ำซ้ำ คือ (3) เมื่อ ร.6 ใกล้ตาย ได้เขียนพินัยกรรมไว้ชัดเจนว่า ให้ ประชาธิปก เป็นกษัตริย์ ซึงเป็นการ "ข้าม" พระองค์เจ้าจุลฯ อีกครั้ง และครั้งนี้ กฎมณเฑ๊ยรบาล ก็ออกมาแล้ว

สรุปคือ พระองค์เจ้าจุลฯ ในทางระเบียบกฎมณเฑียรบาล ที่ถือเจตนารมณ์ของกษัตริย์ เป็นตัวชี้ขาด (ร. 6 ไม่ต้องการให้ พระองค์เจ้าจุลฯ เป็นกษัตริย์ และยังระบุตั้งให้คนอื่นเป็นรัชทายาท แล้ว คือ อัษฎางค์ และ ประชาธิปก แล้ว) หรือแม้แต่ในแง่การ "ข้าม" ตามกฎมณเฑียรบาล ก็ถูกข้ามมาแล้วจริงๆ (ในขณะที่ การ "ข้าม" สมัยวชิรุณหิศ-สงขลา นั้น ไม่มีกฎมณเฑียรบาล)

แต่ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่า คณะราษฎร จะเลือกพระองค์เจ้าจุลฯเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 8 ไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 แม้จะบอกว่าให้เป็นไปตาม "นัย" ของ กฎมณเฑียรบาล แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามกฎมณเฑียรบาลโดยเด็ดขาด และอำนาจตัดสินใจสุดท้าย ยังอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยการเสนอของรัฐบาล เพราะไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชแล้ว ดังนั้น ถ้า คณะราษฎร จะเลือกพระองค์เจ้าจุลฯ หรือเจ้านายอืน "ข้าม" พระองค์เจ้าอานันท์ ก็ย่อมทำได้ และในแง่นี้ ผู้สนับสนุนปรีดีอย่างคุณสุพจน์ ก็มีส่วนถูกในแง่ที่วา พระองค์เจ้าอานันท์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ด้วยการสนับสนุนของคณะราษฎร(และปรีดี)

เท่าที่ผมเข้าใจจากหลักฐานแวดล้อม สมัยที่ ร.7 ลาออก มีการพิจารณา พระองค์เจ้าจุลฯ จริงๆ (และพระองค์เจ้าจุลฯเอง แม้ว่า ในทางการจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่เคยคิดจะเป็นกษัตริย์ แต่ด้วยความที่ผมมองว่าพระองค์ "ปฏิเสธมากไป" จนทำให้น่าคิดว่า จริงๆ อาจจะสนใจในตำแหน่งก็ได้) แต่ในที่สุด คณะราษฎร ก็เลือกพระองค์เจ้าอานันท์ฯ

ผมมองว่า ต้องถือว่า "คณะราษฎร" lucky (โชคดี) มากๆในทางการเมือง เพราะ (ก) พระองค์เจ้าอานันท์ มีความชอบธรรมถูกต้อง เป็น "อันดับที่ 1" ตามกฎมณเฑียรบาลจริงๆ และ (ข) พระองค์เจ้าอานันท์ ยังเด็กมาก โอกาสที่จะเข้าแทรกแซงการเมือง ในระบอบใหม เรียกว่าไม่มีเลย คือ ทั้งชอบธรรมทางกฎหมาย และ "สะดวก" ในทางการเมือง ด้วย (และอาจจะมีปัจจัยที่ คณะราษฎร พิจารณาอีกด้วย คือ การที่ พระบิดา คือกรมหลวงสงขลา นั้น เคยรู้จักกับคณะราษฎร สมัยที่ทรงเสด็จผ่านยุโรป และสร้างความประทับใจซึ่งกันและกันพอสมควร และการที่ มารดา คือ "สมเด็จย่า" ก็เป็นสามัญชน พระองค์เจ้าอานันท์เอง ก็โตขึ้นในยุโรป และห่างไกลจากแวดวงเจ้าในเมืองสยามพอสมควร)

ในแง่นี้ ถ้าจะพูดว่า มีการรื้อฟื้นอำนาจสถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่ตั้งแต่ช่วงประมาณ 2490 เป็นต้นมา ก็ต้องบอกว่า ส่วนหนึง จะต้องมาจากความผิดพลาดหรือล้มเหลวบางอย่างของคณะราษฎรเองด้วย คือ จากปี 2477 อำนาจของสถาบันกษัตริย์ และองค์พระมหากษัตริย์อ่อนแอมากๆ แทบจะไม่มีอยู่ ในทางการเมือง (ในทางอุดมการณ์อาจจะเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่างหาก) การฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ได้ในภายหลัง แสดงว่า จะต้องมีความล้มเหลวบางอย่างในช่วงระหว่าง 2477 ถึง 2490 ที่เป็นปัจจัยให้การฟื้นอำนาจนั้น ทำได้ เช่น ความล้มเหลวของการ "สร้างชาติ" คือนโยบายแบบ "ชาตินิยม-รัฐนิยม" ที่ไม่สามารถเข้าแทนที่ กษัตริย์นิยม ได้อย่างแท้จริง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

twitter

ห้องแชทKonthaiuk