PEACE TV LIVE

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นศ.ขึ้นป้ายเตือนผู้บริหารอย่าเหมาเข่ง มธ. ร่วมต้านนิรโทษ - เรียกทหาร

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นป้ายสวนแนวทางผู้บริหารที่โถงอาคารเรียน มธ.รังสิต ชี้ผู้บริหารสถาบันไม่ควรนำธรรมศาสตร์ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจุดประสงค์ของตนเอง และภาพเรียกทหารทำให้สถาบันเสียชื่อเสียง



 
(ที่มาภาพจากเฟซบุ๊กของ Ratthapol Supasopon)

8 พ.ย.2556 - ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีการขึ้นป้ายคัดค้านการแสดงออกทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนำชื่อสถานบันและออกหนังสือผลักดันให้สมาชิกในประชาคมร่วมสนับสนุนการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยป้ายดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสม

ป้ายดังกล่าวมีจำนวนราว 17 แผ่นเขียนด้วยลายมือ ติดอยู่ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่ผ่านไปผ่านมาอยู่พอสมควร

ตัวแทนของกลุ่ม LLTD ให้สัมภาษณ์ถึงวที่มาของการทำป้ายดังกล่าวว่า เนื่องจากการจัดกิจกรรมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ที่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์และคปท. โดยมีผู้บริหารระดับสูงของมธ. ได้ร่วมขึ้นปราศรัยด้วย ถึงแม้ว่าตามกำหนดเดิมจะมีกิจกรรมที่จะเดินขบวนไปบริเวณนั้นอยู่แล้ว แต่การไปร่วมขึ้นเวทีกับของกลุ่มการเมืองเช่นนี้นับเป็นการเอาทั้งมหาวิทยาลัยไปเลือกข้างทางการเมืองมากเกินไป

นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มยังกล่าวว่า ในฐานะที่อธิการบดีเป็นผู้รับผิดชอบงานจัดชุมนุมเมื่อวานนี้ และภายในงานมีภาพของนักศึกษาถือป้ายที่แสดงการเรียกร้องทหารให้ออกมาทำรัฐประหาร เป็นการสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องการส่งข้อความไปว่าผู้บริหารไม่ควรเอาชื่อมหาวิทยาลัยเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจุดประสงค์ของตนเอง

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"ยิ่งลักษณ์" เข้าประชุมพรรคเพื่อไทย ขอบคุณ ส.ส.พท. "จ่าประสิทธิ์" ปล่อยโฮ กอด "จตุพร" กราบนายกฯ (มีคลิป)




ยิ่งลักษณ์ลั่น"ตู่-เต้น-วีระ"ยังอยู่กับเพื่อไทย






ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการประชุมพรรคเพื่อไทยประเมินสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจสต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ร้องไห้ปล่อยโฮกลางที่ประชุมพรรค และเข้าไปสวมกอดข้างหลังนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อนไปกราบนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และลงมานั่งปาดน้ำตาในห้องผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ร้องไห้ทำไม จสต.ประสิทธิ์ ตอบว่า "มันเจ็บ"

อย่างไรก็ตาม ต่อมา จสต.ประสิทธิ์ แถลงยอมรับมติพรรคเพื่อไทยในการถอยสุดซอยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 6 ฉบับ โดยยอมรับว่าปราศรัยนิรโทษกรรม เป็นความเห็นสวนตัว และพูดก่อนพรรคมีมติ 

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คำต่อคำ “ยิ่งลักษณ์” แถลงสดผ่านทีวี ไม่ถอย “พ.ร.บ.นิรโทษฯ” (มีคลิป)


คำต่อคำ “ยิ่งลักษณ์” แถลงสดผ่านทีวี ไม่ถอย “พ.ร.บ.นิรโทษฯ” 
ซัดถูกบิดเบือนข้อมูล ยันไม่เคยลงนามกม.การเงิน 
ลั่นไม่ใช้เสียงข้างมากทำลายความรู้สึกปชช. วอนให้รอดูมติ “ส.ว.” ก่อน
ว่าจะผ่านร่าง “พ.ร.บ.นิรโทษฯ” หรือไม่ เชื่อ “ส.ส.พท.” ยอมรับมติ “ส.ว.”
yingluck4
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ (เอ็นบีที) และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนท์ทีวี (ช่อง 9) โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพีระพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางปวีณา หงส์สกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมการแถลงข่าวด้วย
โดยเนื้อหาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงมีดังนี้
กราบเรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพรัก จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาร่วม 10 ปีได้สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศอย่างมาก และเมื่อดิฉันได้รับเลือกตั้งเข้ามา ดิฉันเชื่อว่าคนไทยทุกคนเห็นตรงกันว่าหากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจะเป็นการบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ดังนั้นนับแต่ที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ ดิฉันได้ประกาศที่จะใช้นโยบายอย่างชัดแจ้งว่าจะร่วมกันสร้างความปรองดองของคนในชาติโดย ยึดหลักนิติธรรม และต้องการให้กลไกอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยได้แก่นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เป็นไปโดยสมดุล ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งเจตจำนงค์ของรัฐบาลนั้นต้องการที่จะเห็นความปรองดอง ความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างไม่ลดละ จนในที่สุดเมื่อเร็วๆนี้ดิฉันก็ได้เสนอแนวทางในการสร้างเวทีปฏิรูปการเมืองร่วมกับทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างและความเห็นที่หลากหลาย อันเป็นกลไกหนึ่งในหลายๆกลไกที่หวังว่าจะร่วมสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ได้
ขณะเดียวกัน ภายใต้กลไกที่สมดุลของอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะทำให้เห็นได้ในหลายๆเวลาว่าเมื่อฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างกฏหมายต่างๆหรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในซีกของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มิได้ก้าวก่ายกลไกการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเลย จนกระทั่งดิฉันเองกลับถูกกล่าวหาว่าละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วดิฉันต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่
สำหรับการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นรุนแรง มีการเสียชีวิตและการสูญเสียทรัพย์สินนั้น ก็มีการนิรโทษกรรมมาก่อนและเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยต้องศึกษา และหลักของการนิรโทษกรรมนั้น ก็เป็นทางออกทางหนึ่งที่ควรพิจารณา เพราะหากทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว ดิฉันเชื่อว่าความขัดแย้งย่อมลดลง ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
แต่ที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชน จำนวนนับร้อยที่ต้องสูญเสียชีวิตและอีกหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งที่มีต้นตอจากความคิดล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่า ให้เราจะลืมบทเรียนอันเจ็บปวด เราทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจเพื่อไม่ให้ลูกหลานของเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ขณะเดียวกัน ต้องร่วมมือกันให้ประเทศเดินหน้าได้ เราจะมาติดหล่มจนประเทศชาติต้องอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งต่อไปไม่ได้ และหากจะให้บ้านเมืองสงบ การให้อภัยนั้นต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์ และเปิดใจกว้างให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้ง มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งดิฉันเข้าใจดีว่าทำใจได้ยาก แต่เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตน
มาถึงวันนี้ มีปัญหาว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จแล้วนั้น ได้มีการนำเสนอสู่การพิจารณาของวุฒิสภาซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกลไกปกติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างหนัก จนเกิดข้อขัดแย้งของคนในชาติหลายกลุ่ม หลายสถาบัน แม้กระทั่งระหว่างพรรคการเมืองและภายในพรรคการเมืองด้วยกัน ตลอดจนประชาชนในหลายหมู่เหล่า อย่างไรก็ตามเมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพรบ.ดังกล่าวแล้ว ยังเห็นได้ว่ามีคนไทยหลายกลุ่มที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่พร้อมที่จะให้อภัย ทั้งยังมีทีท่าที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ดิฉันไม่อยากเห็นการนำพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดข้อถกเถียงและมีการให้ข้อมูลที่สับสนและถูกบิดเบือน โดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง การบิดเบือนนั้นทำให้มีเกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน เพราะหากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง ซึ่งดิฉันไม่เคยลงนามใดๆ
ที่สำคัญมีความพยายามที่จะบิดเบือนว่ากฎหมายจะกลบเกลื่อนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับ พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่ง พรบ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ยกโทษให้ผู้ได้รับผลพวงทางการเมือง การรัฐประหารที่ไม่อยู่ในหลักนิติธรรม รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน
ดิฉันขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และจะไม่ใช้เสียงข้างมากมาฝืนความรู้สึกของประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะรัฐบาลของดิฉันเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน และย่อมต้องฟังเสียงทั้งที่สนับสนุนและเสียงคัดค้าน เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้คือการสร้างความปรองดองและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้เหตุและผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งที่ปะทุอยู่นี้ รัฐบาลเห็นว่าทุกฝ่ายน่าที่จะหยุดคิด หยุดการกระทำที่จะสร้างความแตกแยกต่อไป
ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากถือตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ดิฉันจึงใคร่ขอเสนอให้วุฒิสภาโดยวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้ง ทั้งจากกลุ่มเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้กรุณาใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวุฒิสภานั้นไม่มีใครก้าวก่ายได้ ได้โปรดใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยอาศัยพื้นฐานความปรองดอง ความเมตตาธรรมกับผู้ที่เดือดร้อนและผู้ที่เจ็บปวดมาเป็นเวลานานให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค
ซึ่งการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินใจอย่างไร จะไม่เห็นด้วยและยับยั้งกฎหมาย หรือมีการแก้ไขก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนผ่านร่าง พรบ.ฉบับนั้นไปแล้ว จะยอมรับการตัดสินใจนั้นด้วยเหตุด้วยผลเพื่อความปรองดองของคนในชาติเช่นกัน ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยทุกคน
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายได้ทำงานอย่างหนักในฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อสนับสนุนแนวทางปรองดอง ถือว่าทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว เพื่อประเทศชาติ และขอให้ใช้เวลาต่อจากนี้เป็นเวลาของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันคิดและร่วมกันตัดสินใจในการพิจารณาแนวทางเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีอคติและไม่ใช้อารมณ์ ด้วยใจที่เปิดรับและเห็นอกเห็นใจอันเป็นพื้นฐานของความปรองดองที่ประชาชนคนไทยต้องการ

คลิปรายการนายแน่มาก วันที่ 04 พฤศจิกายน 2556 ดำเนินรายการโดย คุณคฑาวุธ และ ดีเจหนุ่มลับแล

twitter

ห้องแชทKonthaiuk