PEACE TV LIVE

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฮิวแมนไรต์ฉะกสม. เมินยิงม็อบ







วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8291 ข่าวสดรายวัน


ฮิวแมนไรต์ฉะกสม. เมินยิงม็อบ


อคติ-สอบไม่เท่าเทียม 'ณัฐวุฒิ'อัด-อุ้มมาร์ค! ไม่สาวลึกคดีสไนเปอร์

แกนนำนปช.'ณัฐวุฒิ'ชำแหละรายงานกสม.กรณีม็อบปี 2553 ชี้เป็น ใบเสร็จชัดเจนการเอียงเข้าข้างรัฐบาลมาร์ค จวกเป็นคณะกรรมการอภิสิทธิ์จริงๆ และละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ขณะที่ 'ฮิวแมนไรต์ วอตช์' ชี้ละเลยไม่ตรวจสอบการใช้กำลังทหาร อาวุธสงครามและกระสุนจริง แต่กลับอธิบายการชุมนุมของประชาชนว่าไม่ชอบกฎหมาย รัฐบาลมีสิทธิ์ปราบปราม โดยไม่ตำหนิการใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต ให้น้ำหนักการตรวจสอบไม่เท่ากัน ไม่คาดคั้นทำไมต้องมีพลแม่นปืนใช้สไนเปอร์ลุยม็อบ 



เมื่อวันที่ 10 ส.ค. น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง"รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่าง วันที่ 12 มี.ค. 2553 - 19 พ.ค. 2553" ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ประการสำคัญที่คิดว่ารายงานฉบับนี้มีปัญหา คือหลายอย่างมีหลักฐานชัดเจน แต่กสม.เลือกที่จะไม่นำมาใช้ ทั้งภาพถ่าย คลิปเหตุการณ์ ข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือแม้กระทั่งคำตัดสินของศาล ประการที่สอง คือ รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่เป็นการเอาวาทกรรมทั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯในฐานะผอ.ศอฉ. และมวลชนฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับคนเสื้อแดงมาแต่งเรื่องจนจบ 



น.ส.เวียงรัฐกล่าวต่อว่าหลายเรื่องศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ไม่ได้สรุป เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ กสม. กลับสรุปรวบรัด เช่น กรณีเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือเรื่องที่แกนนำเสื้อแดงสั่งให้เผา ซึ่งขณะนี้คดีของแกนนำก็ยังอยู่ในชั้นศาล แต่กสม.ก็สรุปแล้วว่า แกนนำเสื้อแดงสั่งให้เผาสถานที่ต่างๆ จริง หรือกรณีชายชุดดำที่วัดปทุมวนาราม กสม.มีหลักฐานน้อยมาก และศาลก็ตัดสินแล้วว่า การตายในคดีนี้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กสม.กลับตัดข้อมูลส่วนนี้ไปเลย



น.ส.เวียงรัฐกล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ของ กสม. ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นไปตามสิ่งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์พูด กสม.ปกป้องรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่หาพยานหลักฐานเพิ่ม แม้แต่รายงานของคณะกรรม การอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ยังมีเรื่องที่สรุปไม่ได้ แต่รายงานของกสม.เข้าข้างฝ่ายหนึ่งชัดเจนเกินไป ล่าสุดที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ให้สัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่งเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้เห็นได้ชัดว่านางอมราแทบไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย มีหลายคำถามที่ตอบไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้ทำงานอะไรเลย ดังนั้นข้อเสนอต่อการปรับบทบาทหน้าที่ของ กสม. คือต้องยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ ไม่ใช่ยึดโยงกับกลุ่มอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร



ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงรายงานฉบับเดียวกันว่า สังคมมีความคาดหวังสูงว่า กสม.ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะรายงานผลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคู่กรณีในเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 อย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รายงานที่ออกมา กสม. กลับมุ่งเน้นให้เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช. ไม่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างไร และส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างไร กสม.ให้การยอมรับแค่ 4 วันแรกของการชุมนุม หลังจากนั้นกลับใช้คำว่า เป็นการชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อน จากนั้นก็อธิบายว่า การชุมนุมมีความรุนแรง และจำเป็นที่รัฐจะต้องควบคุมสถานการณ์ รัฐใช้กลไกปกติไม่ได้ จึงต้องใช้กำลังทหาร



นายสุนัยกล่าวอีกว่า แต่หลังจากนั้น กสม. ไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐ ไม่ตรวจสอบการตัดสินใจให้ใช้กำลังทหาร อาวุธสงคราม และกระสุนจริง กล่าวคือ เมื่อกสม.ไม่ได้ตรวจสอบฝ่ายรัฐโดยใช้ความเข้มข้น เคร่งครัด ในระดับเดียวกับที่ใช้กับกลุ่มนปช. แต่กลับใช้เกณฑ์ที่อ่อนลงมามาก และมีการอ้างอิงหลายกรณีว่า ประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสอบเจ้าหน้าที่อยู่ในชั้นศาล มิอาจก้าวล่วง ทั้งที่ก็มีหลายกรณีของนปช.อยู่ในชั้นศาล แต่กสม.กลับลงรายละเอียดได้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตถึงการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 กสม.พูดถึงการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดในวันนั้นเจ้าหน้าที่จึงใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าตั้งแต่ช่วงบ่ายแล้ว ทำไมรัฐต้องระดมเจ้าหน้าที่มากมายขนาดนั้น ทำไมต้องเอารถทหารออกมา 



นายสุนัยกล่าวต่อว่ายิ่งวันที่ 13 พ.ค. 53 เป็นต้นไป ซึ่งศอฉ.ประกาศว่าจะมีการใช้กระสุนจริง และฮิวแมนไรต์ วอตช์วิจารณ์ว่าการใช้กระสุนจริงสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จะได้รับบาดเจ็บ และสุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ แต่กสม.กลับไม่ตั้งคำถามถึงการใช้กระสุนจริงของศอฉ.เลย



"รายงานนี้สรุปว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร รัฐมีความจำเป็นต้องปราบปรามอย่างไร แต่ไม่ได้ตำหนิการใช้อำนาจของรัฐที่เกินขอบเขต ซึ่งทำให้เกิดการตายตามมา และไม่ได้พูดถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า กสม.ไม่มีสิทธิ์ชี้ถูกชี้ผิด ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกสม.มีหน้าที่ชี้ว่าใครละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง ไม่ใช่มีแต่รายงานที่เป็นอรรถาธิบาย" นายสุนัยกล่าว



นายสุนัยกล่าวด้วยว่า กรณีชายชุดดำ เห็นได้ชัดว่า กสม.ให้น้ำหนักการสืบเสาะไม่เท่ากัน สิ่งที่ควรสนใจคือทำไมกสม.ตั้งใจอย่างมากที่จะเน้นว่า มีกองกำลังติดอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่คาดคั้นว่า ทำไมต้องมีพลแม่นปืนอยู่ตามตึกสูงต่างๆ และไม่ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจใช้อาวุธของพลแม่นปืนเหล่านั้น โดยเฉพาะการยิงผู้ที่มีสัญลักษณ์แสดงตัวชัดเจน เช่น พยาบาลอาสา เป็นต้น ทั้งที่ 2 กรณีนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน



นายสุนัยเสนอด้วยว่า รายงานของ กสม. ก็เช่นเดียวกับรายงานขององค์กรอื่นๆ ที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา มีเนื้อหาสมบูรณ์ และเป็น กลาง เพื่อจะทำให้เกิดการยอมรับในสังคมว่า ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นควรขึ้นอยู่กับใครบ้าง สังคมไทยจะร่วมกันรับผิดอย่างไร และจะนำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย 



"ความจริงที่เกิดจากการให้น้ำหนักไม่เท่าเทียมกัน จะทำให้เกิดการเลือกข้าง บรรยากาศการชี้หน้าว่าใครถูกใครผิดจะยังคงเกิดขึ้น ไม่เกิดการยอมรับว่าต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิดทั้งคู่ รายงานฉบับนี้ถูกปฏิเสธ ถูกแรงกระเพื่อมอย่างชัดเจน และยังจะทำให้เกิดความแตกแยก ไม่เป็นคุณต่อการสร้างความปรองดองของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่พูดกันมานานแล้ว กสม.ไม่ทำความเห็นให้ชัดเจนว่า ใครควรต้องรับผิด และพฤติกรรมใดที่เข้าข่ายควรได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง" นายสุนัยกล่าว



วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ว่า รายงานที่ออกมานั้นไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงของการชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่อธิบายความจริงของ กสม.ว่ายืนอยู่ข้างฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่เราได้เห็นภาพของการไปมอบช่อดอก ไม้ให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ ร.11 รอ.ในห้วงที่มีการชุมนุมดังกล่าว รวมถึงสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่ากสม.ยืนอยู่ข้างเครือข่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างชัดเจน และหลายครั้งที่ผ่านมา กสม.ก็สนับสนุนแนวทางของพรรคปชป. ดังนั้น รายงานฉบับนี้คือใบเสร็จ



นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ถ้าเราจะคาดหวังเรื่องความตรงไปตรงมาในเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์การเมืองเราจึงต้องไม่คาดหวังจาก กสม.ชุดนี้ และสำหรับตนแล้วการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการละเมิดสิทธิต่อชีวิตของประชาชน และชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หากมีการละเมิดผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็นอันดับแรกย่อมคือรัฐบาล ผู้มีอำนาจในทันที โดยเฉพาะหากปรากฏการเสียชีวิตขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 12 ศพ และชัดเจนว่าจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งความจริง กสม.ต้องยึดกุมในประเด็นเรื่องนี้ให้ชัดเจนได้เสียก่อน แต่ กสม.ทำรายงานฉบับนี้ออกมาโดยที่ค่อยๆ อธิบายว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนมีสาเหตุอย่างไร และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นการอธิบายกับฝ่ายการเมืองก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นฝ่ายไหน เพราะเขาต้องพูดในมิติของฝ่ายนั้น 



"เมื่อรายงานนี้ออกมาจาก กสม.ชุดนี้ผมรับไม่ได้ ซึ่งในรายงานเราแทบไม่ได้เห็นกสม.กล่าวถึงการเกิดขึ้นของประกาศเขตกระสุนจริง หรือแม้แต่สไนเปอร์ และผมยังคิดว่ากสม.ต้องพูดถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้ต่อชีวิตผู้ที่ถูกสังหารโดยสไนเปอร์ เพราะนอกจากการต่อสู้ทางการเมือง ในโลกอาหรับแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลแรกที่ใช้สไนเปอร์ต่อประชาชน ฉะนั้น กสม.จึงเป็นคณะกรรมการอภิสิทธิ์ ที่ให้นายอภิสิทธิ์ละเมิดชีวิตประชาชน กสม.กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง จากการอธิบายความชอบธรรมของการปราบปราม และไม่ใช่แค่คนไทยแต่ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั่วโลกที่เขาออกมาชุมนุมและบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอำนาจรัฐ" นายณัฐวุฒิกล่าว



นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ในประเด็นที่ กสม.ระบุทำนองว่า นปช.นำพามวลชนไปให้เกิดความรุนแรงนั้น กสม.ต้องอธิบายถึงองค์ประกอบแวดล้อมให้ชัด ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่แกนนำผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์แล้วพวกตนไม่เคยปฏิเสธ เพราะการประกาศยุติการชุมนุมบนเวทีวันนั้น แล้วเดินไปมอบตัว ถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง นั่นคือความรับผิดชอบ แต่ปัญหาคือถ้า กสม.เริ่มต้นด้วยความไม่เป็นกลางแล้วจะให้เรารับผิดชอบโดยการยอมรับรายงานฉบับนี้ ตนก็ยากที่จะทำใจได้ แต่ถ้าเห็นชัดว่า กสม.เป็นกลางและกล้าที่จะชี้มือไปที่ฝ่ายที่คุณสนับสนุนอยู่แล้วถ้าชัดเจนเราก็ยินดีที่จะรับผลรายงานนี้ทั้งในแง่ที่เป็นบวก หรือเป็นลบของคนเสื้อแดง แต่รายงานฉบับนี้ลงมือทำด้วยการหลับตาข้างที่จะเห็นคนเสื้อแดงเราจะยอมรับได้อย่างไร



นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ฉะนั้นการกล่าวหาหลายเรื่องในขณะนี้ก็เป็นการอธิบายเรื่องในขณะที่เกิดเหตุได้ อย่างที่บอกว่าเสื้อแดงเป็นฝ่ายเผาบ้านเผาเมืองศาลก็ชี้แล้วว่าไม่ใช่ กรณีกล่าวหาว่ามีชายชุดดำฆ่า 6 ศพวัดปทุมฯ ศาลก็ชี้แล้วว่าไม่มีชายชุดดำ และศาลยังระบุว่าไม่มีการพบอาวุธในวัดปทุมฯ แต่ กสม.กลับไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย ก็เป็นเรื่องที่จะให้เราไปยอมรับในรายงานฉบับนี้ไม่ได้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผลที่ออกมา แต่ประเด็นคืออยู่ที่หัวใจ กสม.อยู่ตรงไหนต่างหาก เพราะถ้าหัวใจไม่อยู่ตรงกลางเสียแล้วก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะยอมรับ



รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะเสนาธิการกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) อ้างว่า วันที่ 10 ก.ย.นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น เนื่องจากทราบว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ส่งข้อเสนอไปยังบุคคลสำคัญ เกี่ยวกับทางออกการเมืองใน 2 แนวทาง คือ 1.ตั้งรัฐบาลผสม โดยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ และ 2.ให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นประธานสภาปฏิรูปการเมือง ทั้ง 2 ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมาจากบุคคลสำคัญ ทำให้ประเมินได้ว่าหลังจากนี้การเมืองจะมีความพลิกผัน และเชื่อมั่นว่าการแปรญัตติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะมีความชัดเจนในการเอื้อประโยชน์พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวก


หน้า 1
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakV4TURnMU5nPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE15MHdPQzB4TVE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

twitter

ห้องแชทKonthaiuk