PEACE TV LIVE

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คลิปปาฐกถาพิเศษ คุณจาตุรนต์ คุณณัฐวุฒิ ดร.เสกสรรค์ งานรำลึก40ปี14ตุลา วันที่13-14ตุลาคม2556





เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย
Sun, 2013-10-13 17:58

13 ต.ค.56 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ องค์ปาฐกคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และนักคิดนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เขากล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับความหมายทางการเมืองและเจตนารมณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่ประชาธิปไตยยังไม่สามารถปักหลักมั่นคงได้ในสังคม โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน, ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงพลังการเคลื่อนไหวในปัจจุบันว่าเป็นการสืบต่อเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาฯ ในการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิด “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่” คือคนในชนบทและคนชั้นกลางหัวเมืองซึ่งกลายมาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันประชาธิปไตย แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง ประกอบกับการเกิดขึ้นของทุนใหม่โลกาภิวัตน์ที่ต้องการมาแทนที่อำนาจเก่าด้วยการสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการชุบชีวิตระบบรัฐสภา และเป็น “หุ้นส่วนที่เหลือเชื่อ” ในทางการเมือง

“พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต” เสกสรรค์กล่าว

เขายังนำเสนอข้อเสนอแนะต่อขบวนเคลื่อนไหวหรือพลังประชาธิปไตยใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.พลังประชาธิปไตยต้องรักษากลไกของระบอบอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐบาลให้ทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบด้วย ไม่ใช่มุ่งปกป้องแต่พรรคใดหรือรัฐบาลใด 2. เพื่อเสถียรภาพของระบอบ จำเป็นต้องขยายแนวร่วมไปยังชนชั้นหรือบุคคลกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะในยุคโลกภิวัตน์ประชาชนมิได้เป็นก้อนเดียว พร้อมทั้งต้องยึดถือหลัก “เสรีนิยมทางการเมือง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ การเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิมก็เป็นพลังประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องให้พื้นที่ในการเรียกร้อง วิจารณ์รัฐบาล สิ่งนี้เป็นกลไกทำให้ระบบดีขึ้น ไม่ได้ขัดแย้งกับพลังมวลชนที่ชื่นชอบพรรค 3. ขบวนประชาธิปไตยควรเรียนรู้การใช้อำนาจอ่อนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ซึมลึกในสังคมไทย นำเสนอสิ่งที่ดีกว่าเพื่อให้สังคมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผู้คนเท่าเทียมกันนั้นเป็นสิ่งน่าหวงแหน โดยมีจังหวะก้าวที่ระมัดรวังไม่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกสูญเสียที่ยืนในความคิดความเชื่อ เพราะความขัดแย้งประเด็นทางวัฒนธรรมบางอย่างละเอียดอ่อนและมีแนวโน้มนำสู่ความรุนแรงได้ง่าย



อ่านรายละเอียดปาฐกถาเต็มด้านล่าง



===================================





ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และยิ่งยินดีเป็นพิเศษที่ได้พบปะกับมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อ 40 ปีก่อนในวันเวลาเดียวกันนี้ คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยได้พร้อมใจกันเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมวลมหาประชาชนประกาศตนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ มันเป็นการต่อสู้อันมีชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐด้วยอำนาจกระบอกปืน ขณะที่ฝ่ายเรามีสองมือเปล่าและหัวใจเปี่ยมความฝัน ชัยชนะในครั้งนั้นสอนเราว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งหรือการเติบโตของประชาชาติหนึ่ง เจตจำนงแน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะเมื่อมาจากคนเรือนแสนเรือนล้านที่ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียว

ถามว่าเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาคืออะไร เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่ต้องโต้เถียงกันอีก ก่อนการลุกสู้ครั้งนั้น ประชาชนไทยต้องเจ็บช้ำอยู่ใต้ระบอบเผด็จการนานหลายปี ความฝันก็ดี ความแค้นก็ดี ล้วนถูกบ่มเพาะจากสภาวะปราศจากสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกเหยียบย่ำทำลาย ไม่ต้องเอ่ยถึงความเป็นอยู่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการเมืองที่ผูกขาด

สภาพดังกล่าวทำให้เราปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม มันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่วันนั้นและยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยที่ปรารถนาย่อมแยกไม่ออกจากจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น เราไม่ต้องการเพียงระบอบการปกครองของชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจแล้วปะแป้งให้ดูดีกว่าเดิม หากเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมในฐานะทางการเมืองเท่าเทียมกัน เป็นกระบวนการทางการเมืองที่แนบแน่นอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ผู้คนได้อย่างแท้จริง

ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถหลอมรวมจุดหมายและวิธีการไว้ด้วยกันได้อย่างแน่นแฟ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถจับโกหกได้ เมื่อมีใครแยกสองส่วนนั้นออกจากกัน หรือบอกเราว่าจุดหมายอยู่ที่ประชาธิปไตย แต่วิธีการกลับกลายเป็นอย่างอื่น

คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สมารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหนหากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้มครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญาอยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ  ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง

ในแนวคิดประชาธิปไตย ไม่มีใครมีสิทธิปกครองผู้อื่นได้ เพราะทุกคนมีความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน ดังนั้น การเป็นนายตัวเองจึงหมายถึงการปกครองตนเอง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นระบอบการเมืองแล้วเท่ากับว่ารัฐบาลต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน  ในขณะที่ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความต้องการของเขา แต่ก็อีกนั่นแหละ แค่คิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว สำหรับสังคมที่ไม่เคยชินกับความเสมอภาค และยิ่งไม่เคยชินกับการลุกขึ้นยืนอย่างทรนงของประชาชนธรรมดา ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกรรมกรชาวนาและบรรดานักศึกษาที่เห็นอกเห็นใจในช่วงหลัง 14 ตุลา 16 จึงถูกป้ายสีอย่างเป็นระบบ และถูกให้ร้ายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในสายตาของชนชั้นปกครองไทย พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ของชนชั้นล่างๆ ที่เสียเปรียบ กระทั่งในที่สุดได้ก็ได้ใช้วิธีโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ผสานกำลังอันธพาลเข้ากับเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบล้อมปราบฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมใน มธ. เมื่อ 6 ตุลา 19

คงไม่ต้องย้ำ ท่านทั้งหลายคงรู้สึกเองอยู่แล้วว่า พื้นที่เล็กๆ ที่เราใช้ประชุมกันอยู่นี้เคยเป็นทั้งศูนย์กลางแห่งเสรีภาพและอนุสรณ์สถานของฝ่ายประชาชน เป็นที่ที่เราทั้งเคยปักธงแห่งชัยชนะและเช็ดเลือดของผองเพื่อนที่จากไป แน่นอน การต่อสู้ไม่อาจสิ้นสุดลงเพียงเพราะประชาชนถูกปราบปราม หลังปี 2519 เราอาจพูดได้ว่าประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของสงครามกลางเมืองและมันได้สั่นคลอนเผด็จการอำนาจรัฐอย่างถึงราก การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของนักศึกษาและประชาชนขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งชนชั้นปกครองในเวลานั้นจำเป็นต้องทบทวนท่าทีของตน อันที่จริงสงครามไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของผู้ใด เนื่องจากมันคือกองไฟที่อาศัยชีวิตมนุษย์เป็นฟ่อนฟืน กระนั้นก็ตาม เมื่อต้องเลือกระหว่างการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับการยอมจำนนกับการกดขี่ข่มเหง ก็คงมีน้อยคนนักที่จะเลือกชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี แม้ว่าท้ายที่สุด ความผันผวนของสถานการณ์สากลผนวกกับความผิดพลาดขององค์กรนำจะทำให้กองกำลังทางอาวุธต้องสลายตัวลง แต่ความไม่ยอมศิโรราบของหนุ่มสาวสมัยนั้นก็ส่งผลกระเทือนหนักหน่วงต่อชนชั้นนำผู้กุมอำนาจแห่งรัฐ มันทำให้พวกเขาตระหนักว่า การปกครองแบบก่อน 2516 เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องเร่งปรับตัวเข้าหาระบอบประชาธิปไตย ถึงจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม

ถามว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คำตอบแรกคือ ประชาชนสามารถคัดหางเสือประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมแรงกันผลักดันบ้านเมืองไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่เราคงต้องยอมรับว่า เส้นทางเดินของประวัติศาสตร์มิใช่ทางตรง มันยอกย้อน คดเคี้ยว กระทั่งวกกลับได้เป็นบางครั้ง เส้นทางเดินของประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน จากการต่อสู้ 14 ตุลา ถึงวันนี้ เวลาผ่านมาถึง 40 ปี ถ้านับจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกแห่งการปักธงประชาธิปไตยของสังคมไทย เวลาก็ผ่านมานานกว่า 80 ปี อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปไม่ใช่พื้นที่ที่ว่างเปล่า แค่นับเฉพาะ 40 ปีหลังเราก็จะพบว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ในจำนวนนี้เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือในปี 2519, 2534,2549 ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการใช้กำลังรุนแรงโดยฝ่ายรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีพฤษภาคม 2535 และกรณีกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

เช่นนี้แล้ว เราจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรเล่าเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้บ้านเมืองนี้สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างสันติต่อเนื่อง อะไรทำให้ประชาชนต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจ ด้วยเหตุอะไรหรือ  ระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยจึงไม่สามารถหยั่งรากมั่นคงในประเทศไทย ผมเองในฐานะปัจเจกชนอาจจะมองปัญหาไม่ครบถ้วน แต่เท่าที่เห็น คิดว่า อุปสรรคใหญ่ของประชาธิปไตยน่าจะมาจากเหตุปัจจัย 3 อย่างที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน คือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน  ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา

ขออนุญาตให้เวลาเพิ่มเติมกับประเด็นเหล่านี้

เราคงต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นความคิดทางการเมืองและระบอบการเมืองที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศที่มีอายุหลายร้อยปีอย่างไทย ดังนั้น แม้ว่าประชาธิปไตยจะสะท้อนจิตวิญญาณของยุคสมัย และขั้นตอนสูงขึ้นของวิวัฒนาการทางสังคม แต่ก็มีข้อเสียเปรียบที่ต้องแตกหน่อผลิใบบนผืนดินที่เต็มไปด้วยอำนาจเก่า ความคิดเดิม พูดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยจะโตใหญ่ขยายตัวไม่ได้เลย หากไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่จากความคิดอื่น อำนาจอื่น ขณะเดียวกันผู้พิทักษ์แนวคิดเดิมและผู้ปกครองแต่เดิมก็ย่อมดิ้นรนต่อต้านเพื่อรักษาพื้นที่ตน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของประวัติศาสตร์สังคม ดังนั้น ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนรอบห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหารซึ่งผูกพ่วงไปมาสลับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้รับอิสระเสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมของมนุษย์ต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน

ถามว่าทำไมชนชั้นนำแต่เดิมไม่ยอมรับและเปิดทางให้ประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งที่การต่อต้านของฝ่ายประชาชนทำให้เห็นแล้วว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นสิ่งล้าหลังทางประวัติศาสตร์ ในยุคนี้สมัยนี้การบังคับบัญชาราษฎรจากข้างบนลงมานอกจากจะหักล้างศักดิ์ศรีความเป็นคนแล้วยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก คำตอบมีอยู่ว่า นอกจากต้องการรักษาสัดส่วนในพื้นที่อำนาจที่พวกเขาเคยครอบครองแล้ว ชนชั้นนำเก่ายังมีชุดความคิดที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้องกว่าประชาธิปไตยด้วย หรืออย่างน้อยก็ถูกต้องกว่าประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยประกอบด้วยมวลชนจำนวนไม่น้อยที่สมาทานชุดความคิดแบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม และชาตินิยมที่คับแคบและแยกออกจากประโยชน์สุขของประชาชน แนวคิดทั้งปวงนี้บางด้านเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางด้านก็ขัดแย้งกับคุณค่าประชาธิปไตยแบบประสานงา และยังถูกผลิตอย่างตั้งอกตั้งใจ และขยายเป็นพิเศษหลังรัฐประหารทุกครั้ง พูดอีกแบบก็คือ แทนที่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับมัน วัฒนธรรมที่เน้นย้ำเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม การณ์กลับกลายเป็นว่าประชาธิปไตยไทยยังไม่มีฐานวัฒนธรรมที่เหมาะสมคอยเกื้อหนุนและห้อมล้อมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นนี้แล้วจึงมีความเป็นไปได้ตลอดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำการเมืองบนเวทีประชาธิปไตย จะถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางวัฒนธรรมทั้งๆ ที่บางเรื่องมันไม่ได้เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองเลย ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เสมอที่มวลชนผู้ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมเก่าจำนวนไม่น้อยจะออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบบ หรืออย่างน้อยก็ออกมาต้อนรับการรัฐประหารโดยไม่คำนึงถึงผลเสียระยะยาว

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าประชาธิปไตยมีพลังรองรับอย่างแน่นหนา คงเส้นคงวา เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนพอสมควร การที่เหตุการณ์ อย่าง 14 ตุลาคมเกิดขึ้นได้ หรือเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 เกิดขึ้นได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจนั้นมีมากพอที่จะขับพลังอำนาจนิยมให้ถอยร่นออกไป แต่การจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพยังเป็นอีกเรื่องและจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขมากกว่านี้ พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือว่า ประชาธิปไตยไทยต้องมีฐานพลังทางสังคมที่พร้อมแบกพันธะในการพิทักษ์รักษาและเสริมความมั่นคงในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นอาจตกเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอีก

ถามว่าแล้วชนกลุ่มไหนเล่าที่พร้อมทำหน้าที่ดังกล่าว

ช่วงหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเคยมีพลังทางการเมืองอย่างมหาศาล แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ขบวนกรรมกรแรงงานถูกควบคุมเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทุกวันนี้คนงานในระบบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะการก่อตั้งหสภาพแรงงานนั้นทำได้ยาก ผู้นำคนงานมักถูกนายทุนกลั่นแกล้ง กีดขวางไม่ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทั่งถูกปลดจากงาน ถูกคุกคามทำร้ายโดยที่ฝ่ายรัฐยืนข้างฝ่ายทุนเสมอมา ดังนั้น ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและไร้การจัดตั้งเป็นส่วนใหญ่ คงไม่ง่ายที่พลังกรรมกรจะเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย

ลองหันมามองพลังนักศึกษา ในอดีตนักศึกษาและปัญญาชนเคยเป็นกองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ หลังการปราบกวาดล้างปี 2519  มหาวิทยาลัยถูกอำนาจรัฐและพลังอนุรักษ์ดัดแปลงให้เป็นเพียงโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง ยิ่งมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งประกอบด้วยระบบการค้าเสรีการบริโภคเสรี สังคมไทยก็เปลี่ยนไปมาก ประชาการในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปด้วย พื้นที่ในมหาวิทยาลัยถูกยึดครองโดยบุตรหลานของผู้มีรายได้สูง มีความใฝ่ฝันในชีวิตกระจัดกระจายและกระเจิดกระเจิงไปตามจินตนาการส่วนตัวมากกว่าจะมีสายใยใดกับสังคมต้นกำเนิด และยิ่งไม่มีสำนึกผูกพันกับชนชั้นผู้เสียเปรียบ ดังนั้น เราจึงพูดได้ว่า เราไม่มีขบวนนักศึกษาในความหมายเดิม แม้จะมีนักศึกษากลุ่มย่อยที่เอาธุระอยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ของนักศึกษาแล้วอาจต้องอาศัยสถานการณ์ที่พิเศษมากๆ ในการปลุกพวกเขาให้ตื่นรู้ในเรื่องความเป็นมาและความเป็นไปในสังคม

แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องนี้คงปัดความรับผิดชอบทางศีลธรรมให้เยาวชนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะชนชั้นกลางในระดับตัวพ่อตัวแม่เองก็ไม่ได้ดีกว่าเท่าใด โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่มักแกว่งไกวอยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ในอดีตคนชั้นกลางในเมืองเคยสร้างคุณูปการใหญ่หลวงในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ไม่ว่าปี  2516, 2535 เขาล้วนเป็นกำลังหลักในการต่อต้านเผด็จการ น่าเสียดายที่มาถึงวันนี้คนชั้นกลางดั้งเดิมกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษ์นิยม  จากการที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเขากลับกลายเป็นชนชั้นที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ในจุดที่ตัวเองได้เปรียบในทุกด้าน ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม เน้นการส่งออก การค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน เงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มความมั่นคงให้คนชั้นกลางเดิมหลายเท่าและแยกชีวิตพวกเขาออกจากส่วนที่เหลือของสังคม ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการถือครองทรัพย์สินที่คนบนสุด 20% แรกของจำนวนประชากรไทย มีทรัพย์สินมากกว่าคน 20% ที่อยู่ข้างล่างถึงเกือบ 70 เท่า ความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ นับวันทำให้ชนชั้นกลางเก่ามีโอกาสในชีวิต วิถีชีวิตเหนือกว่าคนไทยอีกมหาศาล และยังตัดเฉือนความสัมพันธ์ที่เคยมีระหว่างพวกเขาและชนชั้นอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากปัจเจกบุคคลที่มีสายตากว้างไกลอันมีอยู่น้อยนิด เราอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่สนใจ ไม่เห็นใจชะตากรรมคนส่วนใหญ่ที่อยู่ล่างจากตน  พวกเขามักหมกมุ่นกับเรื่องส่วนตัว การบริโภค การสร้างสไตล์ในชีวิตที่วิจิตรบรรจง กระทั่งนิยามความดี ความงามและความจริง หลุดลอยไปจากความถูกต้องเป็นธรรมทางสังคม

โดยนัยยะทางการเมืองแล้ว สภาพดังกล่าวหมายความว่า ชนชั้นกลางเก่ามีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจกระทบฐานะตน ที่ผ่านมาเหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่า จำนวนไม่น้อยพร้อมสนับสนุนวิธีการนอกระบบในการเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าหากมันจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าโลกของตัวเองจะไม่ถูกโยกไหวสั่นคลอน เช่นนี้แล้วประชาธิปไตยจึงได้ขาดพลังที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม การเติบใหญ่ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ได้เปลี่ยนฐานะและโลกทัศน์ของคนชั้นกลางในเมืองฝ่ายเดียว แต่กวาดต้อนคนในหัวเมืองและในชนบทมาไว้ในกรอบทุนนิยมด้วย ทำให้พวกเขามีฐานะทางชนชั้นและวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิมเช่นกัน นักวิชาการหลายท่านยืนยันตรงกันว่าระยะหลังชนบทไทยเปลี่ยนมาก เกิดการแบ่งตัวทางชนชั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ นอกเหนือจากการอพยพเข้ามาขายแรงงานและประกอบอาชีพอิสระในเมืองแล้ว ชาวนาชาวไร่อีกมหาศาลได้เปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรแบบเก่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ผลิตเพื่อขายและกลายเป็นนผู้เล่นอีกกลุ่มในตลาดทุนนิยม แม้คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ไม่ได้มีฐานะยากจนในความหมายสัมบูรณ์แต่พวกเขาก็ยังเสียเปรียบนานัปการในโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาผลผลิต การเข้าถึงทุน เข้าถึงสวัสดิการ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พูดง่ายๆ คือ ทั้งๆ ที่มีจำนวนมหาศาลและมีคุณูปการในกระบวนการผลิตในประเทศไทย แต่พี่น้องเหล่านี้เป็นชนชั้นที่ถูกมองข้ามหรือไม่มีตัวตน จึงไม่แปลกที่พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประกาศการดำรงอยู่ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้จะต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดเสรี และเพิ่มอำนาจขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน

อันนี้นับเป็นข่าวดีจากมุมมองประชาธิปไตย เพราะใครเล่าจะต้องการเสรีภาพเท่ากับคนที่ต้องการบอกโลกว่าพวกเขามีเรื่องเดือดร้อน ใครเล่าจะต้องการระบอบนี้เท่ากับผู้คนที่แสดงหาความเสมอภาคและความเป็นธรรม ในฐานะผู้ผ่านศึก 14 ตุลาคม ผมเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านี้ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เดียวกับการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน เพียงแต่บริบทของยุคสมัยอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว มันเป็นการผูกโยงประชาธิปไตยกับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า ส่งเสริมให้ผู้คนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันซึ่งเป็นแก่นแท้ของปรัชญาประชาธิปไตย  

แน่นอน มันเป็นเรื่องธรรมดาทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นใหม่ต้องขอแบ่งพื้นที่ทางการเมืองในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ และเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกันที่ปฏิบัติการเช่นนี้ย่อมนำสู่การปะทะกับชนช้ั้นเดิม ปัญหามีอยู่ว่า พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต

กล่าวสำหรับการยืนหยัดพิทักษ์ประชาธิปไตยนั้น ผมเชื่อมั่นว่า คนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมืองหลวงตลอดจนปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจคงจะยืนอยู่ในจุดนี้ไปอีกนาน ด้วยเหตุผลเรียบง่าย คือ พวกเขาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเสียเปรียบทางชนชั้นอันสืบเนื่องจากโครงสร้างทุนนิยมนั้น ไม่อาจแก้ไขหรือชดเชยด้วยวิธีอื่น นอกจากเพิ่มอำนาจต่อรองผู้เสียเปรียบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยเหตุดังนี้ เวทีประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้สำหรับคนเล็กคนน้อย เพราะนั่นเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในการแสดงตัวตน สามารถสร้างทางเลือกในระดับนโยบายและ สามารถอาศัยสิทธิพลเมืองสนับสนุนผู้แทนทางการเมืองที่ขานรับความต้องการของพวกเขา อันที่จริง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับช่วยชุบชีวิตให้ระบบรัฐสภาไทยซึ่งก่อนหน้านี้มักถูกออกแบบให้อ่อนแอต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจการนำของชนชั้นนำที่มาจากภาคราชการ  ในอีกด้านความเคลื่อนไหวในรูปขบวนการชนชั้นกลางใหม่ต่างจังหวัด ก็กดดันให้พรรคการเมืองที่เคยจำกัดตัวในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ เดินแนวทางมวลชนมากขึ้นแม้จะยังไม่ใช่พรรคมวลชนในความหมายที่เต็มรูป  แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นพัฒนาการสำคัญของประชาธิปไตย

จะว่าไปความเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านั้นนับว่าต่างจากการเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิม ในด้านหนึ่งพวกเขายังต้องอยู่ในตลาดทุนนิยมแต่ในอีกด้านหนึ่งก็อยู่ในภาพที่เสียเปรียบสุด สภาพดังกล่าวจึงต้องเกาะติดและต่อรองกับการเมืองภาคตัวแทนเพื่อจะได้อาศัยนโยบายของรัฐมาช่วยคุ้มครองและถ่วงดุลข้อเสีย ในทางตรงกันข้าม กำลังของการเมืองภาคประชาชนในแบบฉบับเดิม มักมาจากกลุ่มชนที่อยากถอยห่างจากตลาดเสรี ต้องการบริหารจัดการชีวิตเรียบเรียบในท้องถิ่นของตัวเองในท้องถิ่นต่างๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐและทุนใหญ่ ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยในสายตาของขบวนการเมืองภาคประชาชนจึงมักเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร รวมทั้งลดอำนาจลดบทบาทการเมืองแบบตัวแทนควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ของประชาธิปไตยทางตรง

ตามความมเห็นของผม การเมืองของคนเล็กคนน้อยทั้งสองกระแสล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังประชาธิปไตย และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน เนื่องจากจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายคือ ไม่ต้องการระบอบอำนาจนิยม และต่างฝันถึงอิสรภาพ ความเป็นธรรมที่ตัวเองพึงได้รับ ฝันถึงชีวิตที่ไม่ถูกละเมิดล่วงเกิน  

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่า ความตื่นตัวของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทนั้นแม้จะสำคัญมากสำหรับการขยายตัวของประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เพียงพอจะขับดันประชาธิปไตยไปสู่ขั้นตอนใหม่ หากไม่มีปรากฏการอีกอย่างเกิดขึ้นในเวลาที่ประจวบเหมาะกันคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหม่นี้ก็มีปัญหาคล้ายชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดที่คิดว่าตนเองต้องการพื้นที่ทางการเมืองที่ควรได้รับและหนทางที่พวกเขาจะเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์อำนาจก็ต้องอาศัยเวทีประชาธิปไตยด้วย เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ จุดหมายของ 2 ฝ่ายจึงมาบรรจบกัน และกำลังทางสังคมของทั้ง 2 ส่วนที่โดยพื้นฐานแล้วต่างกันก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นคุมอำนาจและจัดการระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับนโยบายที่ตอบสนองปัญหาของตน ไม่ว่าการกำหนดราคาผลผลิตการเกษตร การเข้าถึงเงินทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การเข้าถึงสวัสดิการ ฯ พูดตามความจริง ปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตยกินได้ไม่ใช่ความฝันใหม่แต่อย่างใด มันมีมาตั้งแต่การต่อสู้ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาปัญญาชนผนึกกำลังกรรมกรชาวนาเรียกหาค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและที่ดินสำหรับผู้หว่านไถ แต่ทั้งหมดนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหม่ในระบบรัฐสภาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองจริง และนโยบายพรรคการเมืองเป็นสิ่งจับต้องได้ เกิดผลเป็นรูปธรรมแทนสัญญาลมๆ แล้งๆ เหมือนที่ผ่านมา

แน่ล่ะ คนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมต้องเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลายประการ แต่สิ่งนี้ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าโดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่องนโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นถ้าไม่คอขาดบาดตายต้องนับเป็นเรื่องรอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังคงต้องแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย

แต่ก็อีกนั่นแหละ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มีผู้ได้และเสียประโยชน์ ดังนั้นภายในเวลาไม่กีปี่หลัง 2540 สถานการณ์ได้บ่มเพาะความขัดแย้งอย่างคาดไม่ถึงและในที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหาร 2549 นับเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิธีการนอกระบบ และไม่ว่าข้ออ้างเหตุผลจะเขียนไว้เช่นใด เจตจำนงสูงสุดได้ปรากฏในภายหลังว่า มันคือความพยายามพาประเทศไทยกลับไปสู่ระบบรัฐสภาก่อน 2540 ซึ่งมีองค์ประกอบของอำนาจนิยมผสมบางส่วน และมีข้อกำหนดหลายอย่างที่สกัดการเติบโตของนักการเมืองและพรรคการเมือง

ถามว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกแม้สังคมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนมากเช่นกัน ทำไมเรายังต้องพบกับวิธีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ถอยหลังเข้าคลองขนาดนั้นอีก แน่นอน ความผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลนั้นมีอยู่จริงและสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนไม่น้อย แต่ในความคิดของผม ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งของชนชั้นนำเก่าที่สูญเสียฐานะการนำ กับชนชั้นนำใหม่ที่ขึ้นกุมอำนาจด้วยวิธีการต่างจากเดิม ความขัดแย้งดังกล่าวถูกทำให้แหลมคมขึ้นด้วยบรรยากาศความไม่พอใจรัฐบาลของกลุ่มทุนเก่าตลอดจนคนในเมืองหลวงที่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มทุนใหม่ และไม่คงเส้นคงวาทางประชาธิปไตย การก่อรัฐประหารครั้งนั้นจึงมีเงื่อนไขทางสังคมรองรับ

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหาร 2549 มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาลที่ประกอบเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมือง มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหนระบอบประชาธิปไตย มองไม่เห็นศักยภาพของการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เรื่องจึงไม่จบลงง่ายๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ควาามขัดแย้งที่ตามมากลับยิ่งรุนแรงและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยได้ลุกลามสู่ระดับมวลชนและหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเเมือง

มิตรสหายทั้งหลาย พี่น้องทั้งหลาย ผมทราบดีว่าเรื่องราวข้างต้นแทบจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ทุกท่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย กระนั้นก็ตาม ผมจำเป็นต้องเอ่ยถึงสภาพดังกล่าวเพื่อบอกพวกท่านว่าผมยืนตรงไหนและคิดอย่างไร

ในการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเรา ท่านจะสังเกตว่าผมจงใจหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อ บุคคล องค์กร ตัวละครใด

-------------------------

ความฝันเดือนตุลา
40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย
ปาฐกถาพิเศษเนื่องในงานเปิด ’หมุด 14 ตุลา’
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 14 ตุลาคม 2556 

ณ บริเวณลานโพ ท่าพระจันทร์



ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

    วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักเรียนนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนเรือนแสนจากทุกชั้นชนและหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำย่ำยีประเทศชาติมานานนับทศวรรษ การต่อสู้ครั้งนั้นนับเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่สุดของปวงชนชาวไทย  ที่ยืนยันว่าเราต้องการสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม

    พูดอีกแบบหนึ่งคือ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนไทยได้ร่วมกันประกาศจุดยืนว่าต้องการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

    ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเปิด ’หมุด 14 ตุลา’ ขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะได้มาทบทวนกันว่าความฝันเมื่อปี 2516  ได้ปรากฏเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

    ก่อนอื่น ผมอยากจะเน้นย้ำว่าการต่อสู้ 14 ตุลาคมมิได้เป็นการปะทะกันโดยบังเอิญระหว่างผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองกับมวลชนอันไพศาล  หากเป็นการดิ้นรนหาทางออกจากคืนวันอันมืดมิดของประชาชนในทุกครรลองชีวิต  ยามที่ทั้งประเทศถูกพันธนาการ ทุกผู้ทุกนามย่อมได้รับผลกระทบ แต่ละหมู่เหล่าย่อมฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าโดยรูปธรรมแล้วความฝันเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกัน

    พูดให้ชัดเจนขึ้นคือ ประชาชนแต่ละชนชั้นและชั้นชนต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย

    อันดับแรก ใช่หรือไม่ว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ นักศึกษาปัญญาชนและนักวิชาการล้วนถูกปฏิเสธพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำชีวิตทางทางปัญญาของพวกเขาปราศจากคุณค่าและความหมาย

    ต่อมา คนชั้นกลางที่เริ่มมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ ย่อมไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไป  หากอยากมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง

    ชนชั้นกรรมกรซึ่งถูกใช้เป็นต้นทุนราคาถูกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม  ย่อมฝันถึงวันที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นคน  หลายปีภายใต้ระบอบเผด็จการ รัฐบาลไม่เคยกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ  ครั้นเริ่มมีสิ่งนี้เมื่อต้นปี 2516  มันก็ต่ำกว่าค่าครองชีพจริงถึง 2 เท่า

    กล่าวสำหรับชาวนาในสมัยนั้น  จำนวนไม่น้อยเพิ่งสูญเสียที่ดินทำกิน เนื่องจากภาระหนี้สินซึ่งเกิดจากนโยบายกดราคาข้าวของรัฐ  ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยสำหรับพวกเขาจึงไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ หากหมายถึงโอกาสที่จะถามหาความเป็นธรรม

    และพูดก็พูดเถอะภายใต้ระบอบเผด็จการ แม้แต่ชนชั้นนายทุน ผู้ประกอบการ นายธนาคาร หรือพ่อค้า ก็หาได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจของตน  เพราะส่วนไม่น้อยของรายได้ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าคุ้มครอง

    แน่นอน ถ้าเราถอดรหัสความฝันเหล่านี้ออกมาเป็นคุณค่าทางการเมือง  ก็จะพบว่าปรารถนาของผู้คนหลายหมู่เหล่าล้วนรวมศูนย์ล้อมรอบจินตนาการว่าด้วยเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม  ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้จากระบอบอำนาจนิยม

    ถามว่าแล้วทำไมประชาชนจึงหันมาฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตย  คำตอบมีอยู่ว่าเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ด้วยพลังของตนเอง

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยวิธีการกับจุดหมายสามารถเชื่อมร้อยเป็นเนื้อเดียว  ไม่ว่าจะเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ  หรือการเดินขบวนสำแดงกำลัง

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงสะท้อนเจตจำนงของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ  หากยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามันคือเสรีภาพที่ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรม

ในความเห็นของผม เราจำเป็นต้องวัดความคืบหน้าของประชาธิปไตยด้วยบรรทัดฐานนี้  ตราบใดที่ประชาชนหมู่เหล่าต่าง ๆ สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเวทีแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ตราบนั้นเราคงต้องถือว่าระบอบการเมืองกำลังทำงานได้ดี

ในทางกลับกัน  ถ้าความยากลำบากของประชาชนถูกมองข้าม  อำนาจต่อรองของผู้คนจำนวนมากถูกจำกัด หรือพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธ ก็แสดงว่าระบอบการเมืองเองกำลังมีปัญหา  ไม่ว่าระบอบนั้นจะชูธงประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม

เช่นนี้แล้ว 40 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ประชาธิปไตยเป็นเช่นใด

อันที่จริง ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก ท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่าตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยอยู่ในสภาพที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กระทั่งล้มลุกคลุกคลานจนแทบไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่การต่อสู้ในเดือนตุลาคม 2516 ได้สั่นคลอนระบอบเก่าอย่างถึงราก และทำให้ลัทธิเผด็จการไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างยาวนานหรือเต็มรูป

แน่นอน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไร้เสถียรภาพ เกิดจากความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาด้วยเหตุดังนี้ การเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคมจึงถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง  ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว  มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องความเป็นธรรมของชนชั้นผู้เสียเปรียบ หลังจากถูกกดขี่เหยียบย่ำมานาน

จริงอยู่ บ้านเมืองในช่วงนั้นอาจจะดูระส่ำระสายไร้ระเบียบอยู่บ้าง แต่ถ้าประเทศไทยให้เวลาตัวเองอีกสักหน่อย ก็จะเข้าใจได้ว่านั่นก็เป็นเพราะส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน  อันนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลกยามเมื่อระบอบเผด็จการถูกโค่นลง

    มองจากมุมนี้ การปราบปรามกวาดล้างนักศึกษาประชาชนและรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงไม่เพียงเป็นบาดแผลของแผ่นดินเท่านั้น หากยังทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภา

    จากนั้นเรายังต้องรบกันเองอีกหลายปี  กว่าสงครามประชาชนจะสงบลงและประเทศไทยค่อยๆกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง  เวลาก็ผ่านไปแล้วราวหนึ่งทศวรรษ

     อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีความแตกต่างจากการต่อสู้ในปี 2516 อย่างมีนัยยะสำคัญ  ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่จำกัดมาก  และถูกกำหนดเงื่อนไขจากศูนย์อำนาจเดิม

อันนี้หมายถึงว่าฐานะการนำของชนชั้นนำภาครัฐยังคงถูกรักษาไว้  และแม้ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสินใจ  กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกจากประชาชน

    สภาพดังกล่าวได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างใหญ่หลวง  เพราะพวกเขาถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำเสียแล้วตั้งแต่ต้น  ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถแน่ใจได้ว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่บริวารของผู้นำกองทัพ

ยิ่งไปกว่านี้ ในระยะดังกล่าว นักการเมืองจำนวนไม่น้อยยังเติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง พฤติกรรมทางการเมืองของพวกเขาทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้าพ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้คน

    ขณะเดียวกัน กองกำลังประชาธิปไตยที่เคยขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่างนักศึกษาปัญญาชน และกรรมกร ชาวนา  ต่างก็อ่อนพลังลงเพราะความผันผวนของประวัติศาสตร์ที่พวกตนพยายามขับเคลื่อน  ทำให้บรรยากาศทางสังคมดูเหมือนสงบสันติ  ปราศจากทั้งปัญหาและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
    อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระหว่างทศวรรษที่ 2 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ระบอบการเมืองในประเทศไทยจะดูเหมือนซอยเท้าอยู่กับที่และมีภาพปรากฏเป็นเสถียรภาพ  แต่ตัวสังคมไทยเองกลับเปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น

สภาพเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสะสมตัวเงียบ ๆ ของแรงกดดันใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อเส้นทางเดินของประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

อันดับแรกคือการแย่งชิงฐานะการนำในพันธมิตรการปกครอง ระหว่างชนชั้นนำจากภาคธุรกิจกับชนชั้นนำภาครัฐที่กุมอำนาจมาแต่เดิม  ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นประเด็น  แต่เมื่อทุนนิยมอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น  ย่อมทำให้ฐานทางเศรษฐกิจสังคมของระบอบการเมืองเปลี่ยนไป รวมทั้งฐานคิดของนักการเมืองบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ทำให้ความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุนเริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมืองด้วย อันนี้ทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดมีพลังลดน้อยถอยลง  นักการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรงอย่างเปิดเผยมากขึ้น  แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ

แต่ก็น่าเสียดายที่นักการเมืองจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงนี้เคยชินแต่การรับบทพระรอง ดังนั้นจึงไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และยิ่งไม่สามารถขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัว

รัฐบาลชุดแรกที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด นักการเมืองถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนกระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมืองที่ดูคล้ายประชาธิปไตย ในที่สุดเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็สุกงอม

ในเบื้องแรก ผลที่ออกมาจากความขัดแย้งดังกล่าว คือรัฐประหาร 2534  ซึ่งเป็นการฟื้นฐานะการเมืองของชนชั้นนำภาครัฐ  พวกเขาต้องการพาประเทศไทยกลับไปยังปี 2521 อันเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ  และอยากให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้านเท่านั้น

สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจคือ ตอนนั้นโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไปเช่นกัน

ด้วยเหตุดังนี้ ภายในเวลาเพียงปีเดียว  การสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพโดยผ่านกลไกรัฐสภาจึงถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในระหว่างนี้เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมเท่ากับถูกนำมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงฐานะนำในศูนย์อำนาจระหว่างชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำจากภาคธุรกิจยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้  หากจะหวนกลับมาอีกในบริบทที่ต่างไปจากเดิม

อันดับต่อมา แรงกดดันอีกแบบหนึ่งที่สะสมตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษที่ 3 หลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม คือความไม่พอใจของชนชั้นล่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม

กล่าวคือในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นและนำไปสู่ความมั่งคั่งขยายตัวของทั้งชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมือง  แต่การเติบโตอันเดียวกันนี้ก็ได้นำไปสู่ความอับจนเสียเปรียบของคนอีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสียฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพ  ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล  ผู้พ่ายแพ้เสียเปรียบในตลาดเสรี  ไปจนถึงชุมชนคนชายขอบอีกหลายประเภทที่ขาดเงื่อนไขในการพยุงชีวิตให้สมศักดิ์ศรีความเป็นคน

พูดอีกแบบหนึ่งคือในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ช่องว่างระหว่างชนชั้นนับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และช่องว่างนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องของรายได้ หากยังเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่ทางการเมือง และโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐ   ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา  สวัสดิการทางการแพทย์ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างสำหรับการมีชีวิตที่ดี

แน่นอน ประชาชนหลายหมู่เหล่าเชื่อว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน  ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้เดือดร้อนต่างๆจึงเกิดขึ้นด้วยความถี่ที่เหลือเชื่อ แม้ว่าผู้ที่พวกเขาหันมาเผชิญหน้าจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ยกตัวอย่างเช่นในปี 2538 เพียงปีเดียว มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านถึงกว่า 700 ครั้ง (ประภาส  ปิ่นตบแต่ง/ การเมืองบนท้องถนนฯ /2541)

ผมคงไม่ต้องพูดย้ำก็ได้ว่าการชุมนุมประท้วงเหล่านี้  บ่อยครั้งได้นำไปสู่การปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน  กระทั่งมีกรณีที่ประชาชนต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวอันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าผู้นำการต่อสู้หลายคนได้ถูกลอบสังหารหรือถูกคุกคามทำร้าย โดยส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ดังนั้นเราจึงอาจพูดได้ว่าแม้การต่อสู้ 14 ตุลาคมจะผ่านไปถึงกว่า 20 ปีแล้ว และการมีสิทธิเสรีภาพกำลังกลายเรื่องธรรมดาในหมู่คนชั้นกลางแห่งเมืองหลวง แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศไทย  ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมกลับยังไม่ปรากฏเป็นจริง

ตรงกันข้าม หลายครั้งที่พยายามยืนยันความฝันเหล่านั้น พวกเขากลับต้องพบกับกระบองของเจ้าหน้าที่และสุนัขตำรวจ กระทั่งบางทีก็ต้องวิงวอนขอความเมตตาด้วยใบหน้าที่อาบเลือดและน้ำตา ภาพย่อของ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ หรือแม้แต่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยโลกไม่ทันสังเกตหรือให้ความสนใจ  โดยเฉพาะโลกของคนที่ได้เปรียบจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม
แน่นอน สภาพที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลำพังประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความใฝ่ฝันของประชาชนได้ครบทุกหมู่เหล่า

ต่อให้ผู้นำกองทัพหรือชนชั้นนำจากระบบราชการกลับคืนสู่กรมกอง นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังพอใจอยู่กับการเป็นแค่นักเลือกตั้ง ที่หมกมุ่นอยู่กับการต่อรองแบ่งผลประโยชน์กันเอง มากกว่าเป็นผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ หรือเป็นรัฐบุรุษที่ทำทุกอย่างเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

เช่นนี้แล้ว สถานการณ์การเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ยามนั้นกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มพัดมาแรง ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมในการเผชิญกับสภาวะแปลกใหม่ แต่ใครเล่าจะรับผิดชอบในเรื่องนี้

พูดก็พูดเถอะ ในห้วงหนึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ชวนคับแค้นใจยิ่ง เพราะเราเพิ่งปฏิเสธระบอบอำนาจนิยมมาหมาด ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตั้งความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อได้

ดังนั้น ผู้ห่วงใยบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มคิดถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งในปณิธานดังกล่าว มีแนวคิดที่จะหนุนเสริมการทำงานของระบบรัฐสภาด้วยการเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงรวมอยู่ด้วย

ถามว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ประชาชนผู้เดือดร้อนอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวผ่านระบบพรรคการเมือง หรืออาศัยนักการเมืองจากพื้นที่ของตนช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองหรือช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขา

ในความเห็นของผม เหตุผลที่ทำให้ความหวังดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือนักการเมืองจำนวนมากมีฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายผลประโยชน์ซึ่งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้าน  ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นผู้ปัดเป่าความเดือดร้อนเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่มองเห็นได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหายไปของพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาเอง

ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  พรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบสังคมนิยมหรือแบบรัฐสวัสดิการล้วนถูกทำให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย  ครั้นต่อมาเมื่อสงครามอุดมการณ์สิ้นสุดลง ระบบทุนนิยมในประเทศไทยก็หยั่งรากแน่นจนไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผมคงไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าสภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีดไม่มีพรรคการเมืองที่เข้าข้างพวกเขาอยู่ในรัฐสภาเลย ยกเว้นนักการเมืองบางท่านที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบ  ซึ่งก็มีอยู่น้อยนิดเกินกว่าจะสร้างผลสะเทือนในเชิงนโยบาย

ดังนั้น ประเด็นจึงต้องย้อนกลับมาสู่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือเชื่อมโยงจุดหมายกับวิธีการเข้าหากัน

ประชาชนจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองโดยตรง และสามารถแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองของพวกเขาปรากฏเป็นจริง รวมทั้งความเป็นธรรมที่พวกเขาปรารถนาก็ต้องอาศัยพลังของตนขับเคลื่อนผลักดันเอาเอง

พูดกันตามความจริง  กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในรูปของการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีความคิดไปไกลถึงขั้นล้มระบบทุนนิยม  และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการโค่นอำนาจรัฐ พวกเขาเพียงแต่อยากอยู่นอกเขตอิทธิพลของตลาดเสรี  และขอเงื่อนไขสำหรับความอยู่รอดบ้าง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ความปลอดภัยจากมลภาวะที่มาจากภาคอุตสาหกรรม  หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างสายน้ำ ป่าเขา และฝั่งทะเล

เดิมทีเดียวพี่น้องเหล่านี้เพียงขอให้รัฐคุ้มครองพวกเขาด้วย แทนที่จะปล่อยให้ทุนเป็นฝ่ายรุกชิงพื้นที่ได้ทุกหนแห่ง แต่ต่อมาเมื่อการณ์ปรากฏชัดว่ารัฐกับทุนแยกกันไม่ออก จุดมุ่งหมายของพวกเขาจึงเปลี่ยนเป็นลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน  ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือให้รัฐเกื้อหนุนทุนน้อยลง และสงวนพื้นที่บางแห่งเอาไว้ให้พวกเขาดูแลชีวิตของตนเอง

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นการต่อสู้ในลักษณะป้องกันตัวของชนชั้นที่ถูกทอดทิ้ง มากกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ต้องการมีฐานะในศูนย์อำนาจส่วนกลาง

กระนั้นก็ดีในโลกทัศน์ที่ดูเหมือนแลไปข้างหลัง  พวกเขายังมีแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคม เพราะนั่นเป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะทำให้ตนเองมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี และสมศักดิ์ศรีความเป็นคน

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของการเมืองภาคประชาชนในช่วงนี้ได้ส่งผลต่อกระบวนการปฏิรูปการเมืองพอสมควร เพราะมันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิเสรีภาพสืบต่อจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นขบวนการเมืองที่ริเริ่มเรื่องสิทธิชุมชน  ตลอดจนเรียกร้องให้มีการเคารพอัตลักษณ์ตัวตนของชนชาติกลุ่มน้อย

ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฐานะของการเมืองภาคประชาชนจึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก  พร้อมทั้งบทบัญญัติที่ยืนยันทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ  สภาพดูเหมือนว่าจากนี้ไป กลุ่มชนที่เสียเปรียบและต่ำต้อยทางสังคมจะสามารถใช้กระบวนทางการเมืองมากอบกู้ความเป็นธรรมได้

แต่ก็อีกนั่นแหละ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมิได้ถูกออกแบบให้มาคุ้มครองคนเสียเปรียบอย่างเดียว หากยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87

อันนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้มากมาย เสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมกลับถูกหักล้างไปโดยสิ้นเชิง

ทั้ง ๆ ที่กลไกตลาดเสรีนั้นเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศไทยถ่างกว้างอย่างรวดเร็ว  และการปฏิรูปสังคมในระดับรากฐานแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แตะต้องโครงสร้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่  สถานการณ์ของบ้านเมืองยิ่งทวีความซับซ้อนมากกว่านั้นอีก มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหม่ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งนองเลือดในระยะถัดมา

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง ดังนั้นผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาทบทวนความเป็นมาสักเล็กน้อย

อันดับแรก ความล้มเหลวของนักการเมืองรุ่นเก่าในการดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า  ไม่ต้องการปล่อยให้ชนชั้นนำจากท้องถิ่นหรือนักการเมืองอาชีพเหล่านี้มีฐานะนำในศูนย์อำนาจอีกต่อไป

หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือพวกเขาต้องการขึ้นมาบริหารบ้านเมืองด้วยตัวเอง

แน่นอน ลำพังแค่นี้ก็คงไม่ใช่อะไรใหม่มากนัก  แต่เงื่อนไขที่ทำให้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจต่างไปจากเดิมคือ พวกเขาขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540  ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย  โดยหวังว่าจะช่วยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้นำเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อประชาชนทั้งประเทศ   ยิ่งทำให้ฐานความชอบธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะมีลักษณะกว้างขวางกว่าก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานความชอบธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกวางตัวไว้เป็นหมายเลขหนึ่งของบัญชีรายชื่อ เพราะมันเท่ากับว่าคนส่วนใหญ่เลือกเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ถามว่าแล้วประชาชนเล่าได้อะไรบ้างจากการปฏิรูปการเมืองในทิศทางนี้

ในความเห็นของผม คำตอบที่สั้นและชัดเจนที่สุดคือได้อำนาจต่อรองเพิ่ม  ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนถือเอาทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามแข่งขันแทบไม่อาจหาเสียงด้วยวิธีอื่น นอกจากต้องเสนอนโยบายที่โดนใจผู้คน

สิ่งที่เป็นความฉลาดของกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาในเวทีการเมืองคือพวกเขาเข้าใจเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้และตรงกับประเด็นปัญหา

ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2544 จึงจบลงด้วยการพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคการเมืองที่มีมาแต่เดิม  และชัยชนะอันงดงามของพรรคการเมืองที่ชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจก่อตั้งขึ้น

การที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้เสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรนั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนในระบบรัฐสภาไทย แต่ที่สำคัญกว่าและมีนัยยะทางการเมืองกว้างไกลกว่าคือการก่อรูปความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชนจำนวนมหาศาลโดยผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรม

หรือพูดให้ชัดขึ้นคือการก่อตัวของพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อระหว่างกลุ่มทุนใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์กับเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่สุดในสนามเลือกตั้งของไทย

กล่าวสำหรับประเด็นนี้ เราคงต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัวเมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ พวกเขามองเห็นว่าชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยไปหมดแล้ว  พี่น้องในต่างจังหวัดเหล่านั้นล้วนทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม  แต่ก็เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรี

ดังนั้นชนชั้นกลางใหม่ในชนบทจึงต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วยหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน มาจนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้
สำหรับชนชั้นที่เสียเปรียบในตลาดเสรี  การแสวงหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทำไม่ได้เลย หากปราศจากอำนาจต่อรองในทางการเมือง

แต่ก็แน่ละ  นโยบายแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองหลวง ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว ความแตกต่างดังกล่าวต่อไปจะมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา

ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้  การเลือกตั้งในช่วงหลัง 2540 จึงไม่เพียงเป็นหนทางขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มทุนใหม่เท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่แสดงตัวตนและสำแดงน้ำหนักทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทด้วย  และด้วยสาเหตุดังกล่าว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนในชนบทเหล่านั้นจะโกรธแค้นน้อยใจ เมื่อพื้นที่และทางออกจากความเสียเปรียบเพียงทางเดียวของพวกเขาถูกทำลายลงโดยรัฐประหารในปี 2549

ในทัศนะของผม สถานการณ์ข้างต้นคือที่มาทางเศรษฐกิจสังคมของการเมืองแบบเสื้อสีและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะเพ่งมองแต่ความแตกแยกของผู้คนในสังคมไทยเพียงด้านเดียว คงไม่ได้ เพราะถ้าพิจารณาจากมุมของประชาธิปไตยแล้ว นับว่ามีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนพยายามถอยห่างจากการเมืองภาคตัวแทน และต่อรองจากจุดยืนอิสระ  การเมืองมวลชนของชนชั้นกลางใหม่กลับช่วยชุบชีวิตให้กับระบบรัฐสภาด้วยการใช้การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย

ในความเห็นของผม กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าใกล้ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมอีกสักก้าวสองก้าว ทั้งนี้เนื่องจากมันจะช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้น โดยเฉพาะช่องว่างในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้

ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียทั้งเวลาและเลือดเนื้อไปไม่น้อย ในการพยายามผลักระบอบอำนาจนิยมให้ออกจากเวทีประวัติศาสตร์  และขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้สามารถตอบโจทย์ต่าง ๆ ของประชาชน

ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องเลอะเทอะทางตรรกะที่จะคิดว่าประชาธิปไตยสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องต่อสู้ หรือเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาจากข้างบนลงมา

อันที่จริง ถ้าเรามองโลกเชิงบวกสักหน่อย ก็จะพบว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในสายตาของคนบางกลุ่มบางคน สังคมไทยกลับมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำความฝันเดือนตุลาให้ปรากฏเป็นจริง

ใช่หรือไม่ว่าหลายปีมานี้ การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยในทุกสาขาคำนิยาม
ใช่หรือไม่ว่าในระยะหลัง ๆ การเมืองมวลชนก็มีบทบาททำให้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภามีความหมายมากขึ้น โดยกดดันให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายกระจายความเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.isranews.org/index.php?option=com_flexicontent&view=item&cid=191:thaireform&id=24404:ปาฐกถา-เสกสรรค์-ความฝันเดือนตุลา-40-ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ-เสมอภาค-และความเป็นธรรม&Itemid=446&preview=1&fcu=nuttarparch&fcp=6321dd5e0546609d9ec21131820dfa09:oTOEhq8tKFQlyDMaC5FF8Ai9eDjv9S0z

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

twitter

ห้องแชทKonthaiuk